แบตเตอรี่รถยนต์ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยเก็บไฟฟ้า ก่อนทำหน้าที่ ป้อนไปให้อุปกรณ์ต่างๆของรถยนต์ ทำงานได้ อาทิ ระบบจุดระเบิด มอเตอร์สตาร์ท นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ป้อนพลังงานให้กับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ แบตเตอรี่รถยนต์ ไม่ใช่แหล่ง ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เป็นแหล่งเก็บไฟฟ้าสำรอง เมื่อใดก็ตามที่ไดร์ชาร์จ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า ไม่สามารถผลิตได้ทัน เช่นการขับขี่ในตอนกลางคืนซึ่งใช้ระบบไฟเยอะกว่าปกติ ก็จะดึงไฟจากแบตเตอรี่มาใช้
ขณะเดียวกันถ้าไดร์ชาร์จทำงานได้ดีขึ้น หรือ หมุนเร็วขึ้น ก็จะมีกระแสไฟฟ้าเหลือจากการใช้งานก็จะถูกส่งกลับเข้าไปยังแหล่งเก็บไฟฟ้าสำรอง (แบตเตอรี่) จนกว่าจะเต็ม ทั้งนี้แบตเตอรี่จะจ่ายไฟออกอย่างเดียวก็เฉพาะตอนสตาร์ทเครื่องยนต์เท่านั้น เพื่อส่งกระแสไฟเข้าสู่มอเตอร์สตาร์ท และ ระบบต่างๆของเครื่องยนต์ เมื่อเครื่องยนต์สตาร์ทติดแล้ว ไดร์ชาร์จก็จะทำหน้าที่ประจุไฟเข้าแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง นั่นก็หมายความว่า กระแสไฟฟ้าจะถูกจ่ายออกไป และถูกประจุเพิ่มเข้าไป หมุนเวียนเข้าออกแบตเตอรี่อยู่เสมอ ไม่ได้จ่ายออกไปจนหมดอย่างเดียว
หมายความว่าแบตเตอรี่จะหมดได้ก็มีอยู่เพียง 2 กรณี นั่นก็คือ
1. เก็บไฟไม่อยู่ หรือ หมดอายุการใช้งาน
2. ไดร์ชาร์จทำงานผิดปกติ ซึ่งทำให้ประจุไฟเข้าไปยังแบตเตอรี่รถยนต์ได้น้อยมากไม่เพียงพอต่อการใช้งาน หรือ ไม่สามารถประจุไฟเข้าไปได้เลย
อายุการใช้งานของแบตเตอรี่รถยนต์
1. แบบเปียก(กรดตะกั่ว) นิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่ แบ่งย่อยออกได้อีกเป็น 2 แบบ คือ แบบที่ต้องเติม และ ดูแลน้ำกลั่นบ่อยๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง กับ แบบกึ่งแห้ง MF (maintenance free)ไม่ต้องดูแลบ่อย ซึ่งจะกินน้ำกลั่นน้อยมาก โดยทั้ง 2 แบบนี้จะมีฝาปิด-เปิดสำหรับเติมน้ำกลั่น ในแบบแรกนี้จะมีอายุการใช้งานโดยประมาณ 1.5-2 ปี แต่ไม่ควรเกิน 3 ปี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งาน ข้อดีคือมีราคาถูก อายุการใช้งานยาวนานถ้าดูแลอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดีเมื่อถึงอายุการใช้งานของมันก็สมควรที่จะเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูก ใหม่ได้แล้ว
2. แบบแห้ง SMF (Sealed Maintenance Free Car Battery) ข้อดีคือไม่ต้องเติมน้ำกลั่น แต่มีราคาแพง แบตเตอรี่แบบนี้ไม่มีฝาปิด-เปิดสำหรับเติมน้ำกลั่น หรือไม่ก็ถูกซีลทับฝาไปเลย แต่จะมีตาแมวไว้สำหรับไว้คอยตรวจเช็คระดับน้ำกรด และ ระดับไฟชาร์จ
การเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ นั้น ถ้าไม่ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์อะไร เพิ่มเติมขึ้นมา อาทิระบบเครื่องเสียงหรือ อุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ต้องพึ่งกระแสไฟ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง เพิ่มขนาดของแบตเตอรี่ให้แอมป์สูงขึ้น เพราะจะเป็นการทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ อย่างไรก็ตามท่านสามารถเลือกแบตเตอรี่ที่มีขนาดของแอมป์สูงขึ้นได้โดยประมาณ 10-30 แอมป์ ตามความเหมาะสมของการใช้งานแต่ไม่ควรที่ เปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ขนาดแอมป์ลงโดยเด็ดขาด
เลือกขนาดแอมป์ใหเหมาะกับรถคุณ
รถเก๋ง ญี่ปุ่น เครื่อง 1200-1900 ซีซี ใช้แบตเตอรี่ขนาด 45-60 แอมป์
รถเก๋ง ญี่ปุ่น เครื่อง 2000-3000 ซีซี ใช้แบตเตอรี่ขนาด 60-75 แอมป์
รถเก๋ง ยุโรป เครื่อง 2000-3000 ซีซี ใช้แบตเตอรี่ขนาด 75 แอมป์
รถเก๋ง ยุโรป เครื่อง 2800-4000 ซีซี ใช้แบตเตอรี่ขนาด 100 แอมป์
รถกระบะ เครื่อง 2000-3000 ซีซี อ ใช้แบตเตอรี่ขนาด 70-90 แอมป์
ข้อควรระวังในการทำงานกับแบตเตอรี่ เนื่องจากในแบตเตอรี่นั้นมีสารเคมีอยู่ภายใน เช่น สารตะกั่ว น้ำกรด เป็นต้น ดังนั้นในการทำงานกับแบตเตอรี่ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
1. ให้ระมัดระวังไฟ หรือประกายไฟต่างๆ รวมทั้งประกายไฟจากการสูบบุหรี
2. ให้ทำการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตา
3. ระวังอย่าให้เด็กเข้าใกล้น้ำกรด และ แบตเตอรี่
4. การจัดวางและจัดเก็บแบตเตอรี่เก่า ควรเก็บในสถานที่ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะ ไม่วางทิ้งเกลื่อนกลาด
5. ไม่ควรทิ้งแบตเตอรี่เก่าลงในถังขยะปกติธรรมดาทั่วไป
6. ให้ระมัดระวังอันตรายจากแบตเตอรี่ระเบิด ในขณะที่ทำการชาร์จแบตเตอรี่นั้นจะมีแก๊สเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการระเบิดได้
7. ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำบนตัวแบตเตอรี่ ปฏิบัติตามคู่มืองานซ่อมประจำอู่เรื่องระบบไฟฟ้า และ ปฏิบัติตามคู่มือประจำรถ
8. ให้ระวังอันตรายจากน้ำกรดเวลาเดือด น้ำกรดในแบตเตอรี่นั้นเป็นสารกัดกร่อนอย่างรุนแรง ดังนั้นควรสวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตา และ ถุงมือขณะที่ทำงานในกรณีนี้อยู่ รวมทั้งระวังอย่าเอียง หรือ ตะแคงแบตเตอรี่เป็นอันขาด เพราะน้ำกรดสามารถรั่วไหลออกมาทางรูระบายได้ เมื่อตัดสินใจเลือก แบตเตอรี่ ที่เหมาะกับรถคุณได้แล้ว ก็อย่าลืมหาซื้อสายพ่วง แบตเตอรี่ ที่ได้ขนาด-มาตรฐาน ติดรถไว้ด้วยนะครับ เผื่อไว้ช่วยตัวเอง-เพื่อนร่วมทางยามคับขัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด / www.mmsboschcarservice.com
อัพเดทข่าวสารผ่านทาง LINE
ไม่พลาดทุกโปรโมชั่นสุดคุ้มให้คุณได้รับทราบ
Add Friend ที่ ID : @masterusedcar