ในยุคที่รถเกียร์ออโตเมติก (ออโต้) ครองเมือง ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนเข้ามาครองสัดส่วนในตลาดแทนเกียร์ธรรมดาได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องด้วยความสะดวกสบายในการขับขี่ แต่เพราะการขับขี่ที่ง่ายซะเหลือเกินจนทำให้หลาย ๆ ท่านขับขี่อย่างผิดวิธีจนทำให้เกียร์ออโตเมติก กลับบ้านเก่าก่อนเวลาอันควร “รู้ก่อนเหยียบ” จึงขอนำเสนอวิธีการขับขี่อย่างถูกวิธีเพื่อยืดอายุการใช้งานให้ อึด-ถึก-ทน มาฝากกัน
ตำแหน่งต่าง ๆ ของเกียร์ออโตเมติก
-ตำแหน่ง P ( Parking ) แปลว่าจอดรถ เมื่อเกียร์อยู่ในตำแหน่งนี้ จะถูกล็อกให้อยู่กับที่ด้วยกลไก ภายในเกียร์ ไม่ว่าจะติดเครื่องหรือดับเครื่องยนต์ก็ตาม
- ตำแหน่ง R ( Reverse) เป็นตำแหน่งเกียร์ถอยหลัง หากต้องการเข้าเกียร์ถอยหลัง จะต้องกดปุ่มปลดล็อกเสมอ โดยปุ่มดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการเข้าเกียร์ผิดจนอาจทำให้เกียร์เสียหายได้
-ตำแหน่ง N (Natural ) เป็นตำแหน่งเกียร์ว่าง ใช้สำหรับหยุดรถอยู่กับที่บนพื้นราบ โดยสามารถเข็นให้เคลื่อนที่ได้
-ตำแหน่ง D ( Drive ) เป็นตำแหน่งที่ให้รถขับเคลื่อนไปด้านหน้า โดยเกียร์จะเปลี่ยนไปเองโดยอัตโนมัติ ตามความเร็วรอบและแรงกดคันเร่ง ในการขับขี่เดินหน้าบนเส้นทางปกติสามารถใช้ตำแหน่งเพียงตำแหน่งเดียวได้
-ตำแหน่ง 2 เป็นตำแหน่งที่ให้รถขับเคลื่อนไปด้านหน้า แต่เกียร์จะถูกล็อกไว้ให้ทำงานแค่เกียร์ 1 และ เกียร์ 2 เท่านั้นตำแหน่งนี้จะใช้ในการขับขี่ขึ้นทางลาดชันที่ไม่มากนัก
-ตำแหน่ง 1 หรือ L เป็นตำแหน่งที่ให้รถขับเคลื่อนไปด้านหน้า โดยเกียร์จะถูกล็อกไว้ให้ทำงานแค่เกียร์ 1 เท่านั้น ซึ่งใช้ในการขับขี่ขึ้นทางลาดชันมาก ๆ ที่ต้องการกำลังสูง
-การสตาร์ทเครื่องยนต์ เพื่อความปลอดภัย ผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่าย ออกแบบระบบให้สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ ได้เฉพาะ ตำแหน่ง P กับ N เท่านั้น
เทคนิคควรรู้
-เป็นที่ถกเถียงกันมานาน ว่าการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จากตำแหน่ง D ไป N ระหว่างจอดติดไฟแดงมีผลต่อการสึกหรอของชุดเกียร์จนถึงขั้นกลับบ้านเก่าเร็วกว่าเวลาอันควร นั้นอาจไม่ถูกต้องนัก กล่าวคือเมื่อเครื่องยนต์ทำงานปั้มน้ำมันเกียร์ ภายในเกียร์ออโตเมติกก็จะทำงานไปด้วย โดยการจ่ายน้ำมันเกียร์ไปยังชุดคลัตท์-และชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในเกียร์เพื่อลดการสึกหรอ ดังนันหากต้องจอดรถติดไฟแดงนานเกิน 30 วินาที การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จากตำแหน่ง D ไป N ก็ไม่ได้ทำให้เกียร์ออโตเมติก รถของท่านสึกหรอเร็วขึ้นแต่อย่างไร
ในทางกลับกันลองนึกดูว่าหากเข้าเกียร์ตำแหน่งD แล้วเหยียบเบรกแช่ไว้เป็นเวลานาน ๆ กำลังเครื่องยนต์ที่ส่งผ่านระบบเกียร์ออโตเมติกที่พร้อมเดินหน้าแต่ถูกทำให้หยุดไว้ด้วยระบบเบรก รวมถึงยางแท่นเครื่อง และแท่นเกียร์ที่ต้องบิดตัวรองรับกำลังเป็นระยะเวลานาน สิ่งไหนจะมีการสึกหรอและสิ้นเปลืองมากกว่ากัน
-เมื่อต้องจอดรถในทางลาดชัน ก่อนถอนเท้าจากเบรกให้ดึงเบรคมือให้แน่นก่อน จากนั้นให้เลื่อนตำแห่งเกียร์จากD หรือ R ที่เข้าอยู่ ไป N แล้วค่อยขยับไป P และเมื่อต้องการจะขยับรถให้เหยียบเบรกไว้ก่อนเลื่อนตำแหน่งเกียร์จาก P ไป N ,D หรือ R แล้วจึงปลดเบรกมือ จากนั้นค่อยถอนเท้าจากเบรกเพื่อให้รถเคลื่อนตัว
-เลือกใช้น้ำมันเกียร์ให้ถูกชนิด เนื่องจากในปัจจุบันเกียร์ออโตเมติก ถูกพัฒนาไปมากจึงต้องเลือกใช้น้ำมันเกียร์ที่ได้มาตรฐาน-ถูกชนิด-เปลี่ยนถ่ายก่อนหรือตามระยะที่กำหนด
-ขับขี่อย่างนุ่มนวล ไม่ว่าเกียร์ออโตเมติกชนิดใด หากขับขี่กระชากด้วยความรุนแรง ก็ย่อมกลับบ้านเก่าก่อนเวลาอันควรทั้งนั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด
อัพเดทข่าวสารผ่านทาง LINE
ไม่พลาดทุกโปรโมชั่นสุดคุ้มให้คุณได้รับทราบ