เมื่อพูดถึง “ค้ำโช๊ค” หลาย ๆ ท่านคงเกิดคำถามในใจว่ามันคืออะไร มีประโยชน์แค่ไหนและจำเป็นหรือไม่กับการนำมาติดตั้งบนรถคันเก่งของเรา “รู้ก่อนเหยียบ” จึงขอนำทุกท่านมารู้จักกับเจ้า “ค้ำโช๊ค” กันว่ามีประโยชน์จริงหรือแค่เพิ่มความสวยงาม
ค้ำโช๊ค (Strut Bar) เป็นตัวยึดระหว่าง เบ้าโช๊คทั้งสองด้านของตัวถังรถยนต์ เพื่อลดการบิดตัวของตัวถังรถ กล่าวคือในความเป็นจริงเมื่อเราขับรถบนถนนปกติ ซึ่งมีสภาพและอุปสรรคแตกต่างกันออกไป ตัวถังของรถยนต์จะมีการบิดตัว อาทิ เมื่อขับรถด้วยความเร็วบนเส้นทางที่ขรุขระ แรงสั่นสะเทือนที่มาจากช่วงล่าง จะส่งผลให้ทำให้ตัวถังเกิดอาการบิดตัว สั่น กระพือ ตัวรถก็จะเกิดอาการ ร่อน ไม่เกาะถนน เช่นเดียวกันกับเมื่อต้องเข้าโค้งด้วยความเร็ว น้ำหนักตัวรถจะถูกถ่ายเทไปยังด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้ตัวถังเกิดการบิดตัว จนมุมองศาล้อเกิดผิดเพี้ยน ส่งผลให้รถไม่เกาะถนน และควบคุมยากขึ้น แต่ถ้ามี “ค้ำโช๊ค” ก็จะช่วย ให้การบิดตัวของตัวถังน้อยลง อาการร่อน กระพือ มุมองศาล้อผิดเพี้ยนน้อย ทำให้ควบคุมรถได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ใช้รถปกติ ไม่ได้ใช้ความเร็วสูง เข้าโค้งหนัก ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องคิดถึงการติดตั้ง “ค้ำโช๊ค”
เทคนิคควรรู้
ความแตกต่างของวัสดุที่ใช้ในการผลิต
-เหล็ก มีราคาถูก แต่จะมีความกระด้างเพราะให้ตัวได้น้อย เมื่อเกิดการกระแทกแรงๆ ซ้ำยังเกิดสนิมได้ง่าย
-สแตนเลส ราคาสูงกว่าเหล็ก แต่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน มีข้อดีตรงความสวยงามและไม่เป็นสนิม
-อลูมิเนียม ราคาสูงกว่าสแตนเลส แต่สามารถยืดหยุ่นตัวได้สูงกว่าแข็งแรงกว่า ทำให้มีความกระด้างน้อยกว่า
-ใช้ทั้งเหล็กและอลูมิเนียม ร่วมกัน “ค้ำโช๊ค”ชนิดนี้จะรวมข้อดีของทั้ง 2 วัสดุ โดยให้ทั้งความยืดหยุ่นและความแข็งแรง
-วัสดุชนิดพิเศษ อาทิ ไทเทเนียม กราไฟท์ คาบอนเคฟล่า มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นตัวได้สูงมาก แต่ก็มีราคาสูงมากเช่นเดียวกัน
ข้อดีของ”ค้ำโช๊ค”
-ควบคุมรถได้ง่ายขึ้น ทั้งทางตรงและการเข้าโค้ง เนื่องจากตัวถังบิดตัวน้อยลง
-ช่วยลดแรงกระแทกได้ดีขึ้น ทั้งนี้เมื่อรถตกหลุม “ค้ำโชค” จะช่วยกระจายแรงกระแทก
-ยืดอายุการใช้งาน “โช๊คอัพ” เมื่อสามารถลดแรงกระแทกให้น้อยลง “โช๊คอัพ”ก็จะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น
ข้อเสีย
-ทำให้รถกระด้างขึ้น กล่าวคือเมื่อตัวถังบิดตัวได้น้อยลงความกระด้างก็ย่อมเพิ่มขึ้นตามมาด้วย
-ต้องเสียเงิน ในการซื้อหามาติดตั้ง ยิ่งผลิตจากวัสดุชนิดพิเศษราคาก็ย่อมแพงขึ้นตามไปด้วย
ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ เมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสียตามมาเสมอ เช่นเดียวกัน “ค้ำโช๊ค” จะจำเป็นหรือสิ้นเปลืองคำตอบอยู่ที่ตัวคุณ.
ขอบคุณข้อมูลจาก -บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด