มีคำถามจากผู้ใช้รถเข้ามาหลายท่าน ถึงปัญหาสายพานดังซึ่งถือเป็นเรื่องชวนปวดหัวอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม “รู้ก่อนเหยียบ”เคยนำเสนอเรื่อง “สายพานดัง!! : ลางบอกเหตุอันตราย” ไปแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่ทราบจึงขอนำมาเสนอกันอีกครั้ง
สายพาน (Auto Belts) มีหน้าที่สำคัญคือการถ่ายทอดกำลังจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง สำหรับในเครื่องยนต์จะถ่ายทอดกำลังจากพูเล่หน้าเครื่องเพื่อใช้กำลังไปขับเคลื่อนอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่วาจะเป็น ไดชาร์จ-คอมเพรสเซอร์แอร์ - ปั๊มน้ำ-ปั๊มเพาเวอร์-ฟรีปั๊ม ฯลฯ
สายพานที่นิยมใช้ในรถยนต์ปัจจุบันส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะใช้สายพานสำหรับเครื่องยนต์อยู่ 3ชนิดได้แก่
- สายพานแบบร่องตัวV (V-Belts) ส่วนใหญ่ใช้ขนาด 9.5 และ 12.5 ยกตัวอย่างเช่น 12.5 * 1250 หมายถึงสายพานเส้นนี้มีความกว้างของสันสายพานด้านนอก 12.5 มม.และมีความยาวรอบวงนอก 1250 มม.
- สายพานแบบร่อง V (V-Multi-Ribbed Belts)จะมีลักษณะแบนมีร่อง2-8 ร่อง ตัวอย่างเช่น 6PK 2150หมายถึงสายพานเส้นดังกล่าวมี 6ร่องฟัน และมีความยาวรอบวงนอก 2150 มม.
- สายพานแบบฟันเฟือง ซึ่งใช้ในสายพานไทม์มิ่ง
สายพานดัง โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการลื่น เนื่องจากเมื่อผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่งสายพานจะยืดตัวออก จนทำให้หน้าสัมผัสของสายพานไม่สามารถยึดเกาะกับพูเล่ได้ จึงเกิดเสียงดัง “เอี๊ยด ๆ”ขึ้น นอกจากนี้เสียงดังกล่าวยังอาจเกิดจากสายพาน แตกร้าว-หมดอายุ หรือ ลูกรอกสายพาน ชำรุดเสียหาย
ทั้งนี้ผู้ผลิตรถยนต์จะมีกำหนดระยะการตรวจเช็กและเปลี่ยนสายพานต่าง ๆ ไว้ในสมุดคู่มือ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 8 หมื่นถึง 1 แสนกิโลเมตร แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้สายพานเสื่อมสภาพเร็วกว่ากำหนดไม่ว่าจะเป็น ความร้อนของเครื่องยนต์ การปรับตั้งที่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป หากไม่ได้รับการปรับตั้งแก้ไข สายพานอาจขาดและเหวี่ยงไปถูกชิ้นส่วนอื่นเสียหาย หรืออาจประสบปัญหาความร้อนขึ้นสูงเพราะปั๊มน้ำไม่ทำงาน-พวงมาลัยหนัก -ไฟไม่ชาร์จ-แอร์ไม่เย็น เป็นต้น
เทคนิคควรรู้
- หมั่นตรวจสอบความตึง-หย่อน เมือพบว่าสายพานหย่อนให้ปรับตั้งใหม่
- หากพบรอยแตกร้าวให้เปลี่ยนใหม่ทันที
- ตรวจสอบลูกปืนตามจุดต่าง ๆ ทั้งในรอกดันสายพานปั๊มน้ำ -ปั๊มเพาเวอร์-ไดชาร์จ ว่าเสียหายหรือไม่เพราะหากลูกปืนแตกอาจเป็นต้นตอให้เกิดเสียงดังได้เช่นกัน
- หลายท่านอาจเคยจะใช้สเปรย์ไล่ความชื้นฉีดที่สายพาน ในการแก้ปัญหาเสียงดัง โดยวิธีดังกล่าวอาจช่วยให้เสียงดังเงียบลงได้เพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น แต่ยังมีอีกวิธีที่ได้ผลดีกว่าคือให้ใช้สบู่ก้อนแช่น้ำพอหมาด ๆ ถูที่บริเวณร่องใต้ท้องสายพานจุดที่สัมผัสกับพู่เล่ รับรองเสียงเอี๊ยด ๆ เงียบสนิท...
ขอบคุณข้อมูลจาก : บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด