ทุกวันนี้รถยนต์รุ่นใหม่ๆ แทบทุกค่ายก็ว่าได้ ต่างติดตั้ง “โคมไฟหน้าโปรเจคเตอร์” เป็นอุปกรณ์พื้นฐานมาจากโรงงานกันเลยทีเดียว โดยอาจจะยกเว้นเพียงรุ่นประหยัดเพียงเท่านั้น ทำให้หลายท่านแอบสงสัยว่าเจ้า“โคมไฟหน้าโปรเจคเตอร์” หน้าตากลมๆ ที่ฝังอยู่ในโคมไฟหน้ามันมีดีอะไร “รู้ก่อนเหยียบ” จึงขอนำทุกท่านมารู้จักกับเจ้า “โคมไฟโปรเจคเตอร์”
โคมไฟโปรเจคเตอร์ คือลักษณะของโคมไฟหน้ารถยนต์ ที่มีเลนส์เป็นตัวรวมแสงสว่างจากหลอด และสามารถบังคับให้แสงไปในทิศทางที่กำหนด ไม่ว่าจะใช้หลอดไฟฮาโลเจนหรือชุดไฟซีนอน ซึ่งต่างจากโคมไฟธรรมดา ซึ่งจะมี รีเฟล็กเตอร์ ทำมุมกันคอยสะท้อนแสงจากหลอด ให้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ยังมีแสงบางส่วนที่สามารถฟุ้งกระจายไปแยงตาเพื่อนร่วมทาง
เทคนิคควรรู้
-โคมไฟโปรเจคเตอร์ สามารถใช้ได้ทั้งกับหลอดฮาโลเจน และชุดไฟซีนอน
-โคมไฟโปรเจคเตอร์ สามารถติดตั้งเพิ่มได้ในโคมไฟรถยนต์เกือบทุกรุ่น
-โคมไฟหน้าโปรเจคเตอร์ แรกเริ่มเดิมทีถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อรวมแสงไฟให้เป็นระเบียบเท่านั้น แต่ระยะหลังมักถูกจับคู่กับ ไฟซีนอน เพื่อลบการฟุ้งกระจายของแสงอันเป็นปมด้อยของไฟซีนอน ซึ่งโดยรวมก็ออกมาดี ให้แสงคม-ไม่ฟุ้ง แต่ควรเลือกอุณหภูมิสีไม่เกิน 6,000 K เพราะใช้งานได้จริง ไม่สร้างความรำคาญให้เพื่อนร่วมทาง
การเลือกค่าอุณหภูมิสีหรือค่า K (Kelvin) และค่าความสว่าง (Lumen) ของหลอดซีนอน
ค่า K เป็นค่าอุณหภูมิของแสงไม่ใช่ค่าความสว่าง ค่า K ยิ่งสูง สียิ่งขาวขึ้น พอเลยจุดที่ขาวที่สุดก็จะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นฟ้า เป็นสีม่วง เป็นชมพูตามลำดับ และเมื่อสูงจนเกินไปจะฟุ้งกระจายสร้างความรำคาญและลดทัศนะวิสัยการมองเห็นของตัวท่านเองและเพื่อนร่วมทาง ส่วนค่าความสว่างมีหน่วยเป็น Lumen ค่ายิ่งสูงยิ่งสว่างยิ่งมองเห็นชัดเจน
สำหรับค่า K ที่ให้ค่าความสว่างสูงสุดอยู่ที่ราวๆ 3,000 K จะได้ค่าความสว่างอยู่ที่ราวๆ 4,200 Lumenแต่แสงออกสีเหลืองซึ่งถ้านำมาใช้งานเป็นไฟหน้ารถปกติจะผิดกฎหมาย โดยสามารถใช้เป็นสปอร์ตไลท์ได้ แต่ต้องเปิดเมื่อมีเหตุอันควรเท่านั้น ส่วนค่า K ที่ให้ค่าความสว่างสูงสุดโดยไม่ผิดกฎหมายควรเป็นค่าเดียวกันกับที่โรงงานผลิตรถยนต์ติดตั้งให้กับรถรุ่นที่มีโคมไฟซีนอนเป็นมาตรฐาน โดยประมาณราวๆ 4,300 Kจะได้ค่าความสว่างที่ประมาณ3,800 Lumen
เปรียบเทียบสัดส่วนอุณหภูมิสีหรือค่า K (Kelvin) และค่าความสว่าง (Lumen)
ที่อุณหภูมิสี 3,000 K จะได้ค่าความสว่างที่ประมาณ 4,200 Lumen
ที่อุณหภูมิสี 4,300 K จะได้ค่าความสว่างที่ประมาณ 3,800 Lumen
ที่อุณหภูมิสี 5,000 K จะได้ค่าความสว่างที่ประมาณ 3,600 Lumen
ที่อุณหภูมิสี 6,000 K จะได้ค่าความสว่างที่ประมาณ 3,400 Lumen
ที่อุณหภูมิสี 8,000 K จะได้ค่าความสว่างที่ประมาณ 2,700 Lumen
ที่อุณหภูมิสี 10,000 K จะได้ค่าความสว่างที่ประมาณ 2,200 Lumen
ที่อุณหภูมิสี 12,000 K จะได้ค่าความสว่างที่ประมาณ 2,000 Lumen
ที่อุณหภูมิสี 15,000 K จะได้ค่าความสว่างที่ประมาณ 1,800 Lumen
ที่อุณหภูมิสี 17,000 K จะได้ค่าความสว่างที่ประมาณ 1,600 Lumen
ที่อุณหภูมิสี 20,000 K จะได้ค่าความสว่างที่ประมาณ 1,400 Lumen
ส่วนเรื่องสีของแสง
ที่ค่า 1,000- 2,400K จะได้แสงสีอมเหลืองถึงเหลือง พบในหลอดฮาโลเจน
ที่ค่า 3,000K จะได้แสงสีเหลืองนิยมติดในไฟตัดหมอกหน้า
ที่ค่า 3,800- 6,000K จะได้แสงสีขาวนวลอมเหลือง (หลอดไฟที่ติดรถจากโรงงานมีค่า4,300K )
ที่ค่า 7,000 - 8,000K จะได้แสงสีขาวนวล
ที่ค่า 10,000K จะได้แสงสีขาวอมฟ้า
ที่ค่า 12,000K จะได้แสงสีฟ้าอ่อน
ที่ค่า 15,000 - 16,000K จะได้แสงสีฟ้าเข้ม
ที่ค่า 17,000 - 18,000K จะได้แสงสีอมม่วง
ที่ค่า 20,000K จะได้แสงสีชมพู
ขอบคุณข้อมูลจาก : บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด
อัพเดทข่าวสารผ่านทาง LINE
ไม่พลาดทุกโปรโมชั่นสุดคุ้มให้คุณได้รับทราบ
Add Friend ที่ ID : @masterusedcar