ระยะทางขับเคลื่อนที่น้อยและระยะเวลาชาร์จไฟอันยาวนาน ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ยังไม่สนใจใช้งานรถพลังไฟฟ้ามากนัก แต่อุปสรรคเหล่านี้อาจหมดไปด้วยการใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ล่าสุด
แบตเตอรี่ลิเธียม-ออกซิเจนหรือเรียกสั้นๆ ว่าลิเธียม-แอร์ คือนวัตกรรมใหม่ที่ว่ากันว่าจะให้ประสิทธิภาพมากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนแบบเดิม 5-15 เท่า แต่ลิเธียม-แอร์ไม่ถูกใช้งานมากนักเนื่องจากมักมีปัญหาด้านความร้อน และอายุใช้งานที่ค่อนข้างสั้น
ล่าสุด จู หลี ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตต์ในสหรัฐอเมริกาทำการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีลิเธียม-แอร์ เวอร์ชั่นใหม่เพื่อลดข้อจำกัดข้างต้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ได้ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ไอทีต่างๆ อย่างสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต
เทคโนโลยีซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุถึงกระบวนการทำงานของแบตเตอรี่ที่เรียกว่า nanolithia cathode ซึ่งจะเป็นการยกระดับการทำงานของลิเธียม-ออกซิเจนดั้งเดิมที่จะดึงเอาอากาศเข้ามาทำปฏิกิริยาเคมีทำให้มีการย้อนกลับและชาร์จพลังไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่ แต่กระบวนการ nanolithia cathode จะมีการทำงานที่รวดเร็วกว่านั้น
ถ้าทีมวิจัยและพัฒนาของจู หลี สามารถพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ใช้งานได้จริง คาดว่าแบตเตอรี่ลิเธียม-ออกซิเจนจะมีอายุใช้งานที่ยาวนานกว่าแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนหลายเท่าตัว โดยคาดว่าทีมงานจะสามารถผลิตแบตเตอรี่ตัวต้นแบบได้ภายในหนึ่งปี ก่อนจะส่งต่อให้บริษัทผู้ผลิตต่างๆ ทำการผลิตในอีก 18 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ทีมงานวิจัยและพัฒนาของจู หลียังต้องเผชิญอุปสรรคใหญ่หลวงอีกหนึ่งประการ นั่นคือเงินลงทุน
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.autospinn.com