อย่างที่ทราบๆกันอยู่แล้วว่า “ระบบเบรค” เป็นสิ่งที่สำคัญเมื่อดูแลให้อยู่ในสภาพปกติพร้อมใช้ก็จะเพิ่มความปลอดภัยในทุกการเดินทาง ทั้งนี้ถ้ายังจำกันได้ “รู้ก่อนเหยียบ” เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับระบบเบรคและปัญหาต่างๆไปแล้วในบทความเรื่อง "เบรค" อย่าคิดว่าไม่สำคัญเรื่องของผ้าเบรค ทำไม?ต้องถ่ายน้ำมันเบรก!! แต่อย่างไรก็ตามยังมีส่วนประกอบสำคัญอีกอย่างที่จะมองข้ามไปไม่ได้นั่นคือ “หม้อลมเบรค” (Brake Booster) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญคือ ช่วยผ่อนแรงในการเหยียบเบรคทำงานด้วยระบบสูญญากาศ
ทั้งนี้ในหม้อลมเบรคจะมีแผ่นไดอะเฟรมและจะมีท่อต่อเชื่อมกับท่อไอดี เมื่อเครื่องยนต์ทำงานจะดูดเอาอากาศเพื่อใช้ในการจุดระเบิดผ่านท่อไอดีและท่อที่เชื่อมต่อไปยังหม้อมลมเบรคด้วย ส่งผลทำให้ภายในหม้อลมมีสภาวะเป็นสูญญากาศ และเจ้าสูญญากาศนี้เองที่เป็นตัวช่วยผ่อนแรงในการเหยียบเบรคของเราให้นุ่มนวล แต่ในทางกลับกัน เมื่อเครื่องยนต์ดับ เราจะสามารถเหยียบเบรคที่นุ่มนวล ได้แค่ 2-3 ครั้ง จากนั้นแป้นเบรคก็จะแข็งทื่อขึ้นมาในทันทีด้วยเหตุผลที่ว่าแรงลมดูดซึ่งถูกเก็บกักไว้ในหม้อลมเบรคหมดลงนั่นเอง ดังนั้นไม่ว่าชิ้นส่วนในระบบเบรค อาทิผ้าเบรค จานเบรค จะเทพขนาดไหนแต่ถ้าหม้อลมเบรคชำรุดเสียหายชิ้นส่วนต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพได้เช่นกัน
เทคนิคควรรู้
วิธีตรวจสอบหม้อลมเบรค
-ดับเครื่องยนต์ เหยียบเบรคให้สุดแล้วปล่อย 5-6 ครั้ง จนลมสูญญากาศหมดหม้อลม แป้นเบรคจะแข็งดันเท้าขึ้นมา จากนั้นให้เหยียบเบรคค้างเอาไว้ ทั้งที่เเข็งๆ สตาร์เครื่องยนต์ เมื่อเครื่องยนต์ติดให้สังเกตว่า ถ้าแป้นเบรคต่ำลงตามแรงเยียบเบรคที่ค้างไว้ แสดงว่าหม้อลมเบรคยังปกติสุขดีอยู่ แต่ถ้าแป้นเบรคไม่ต่ำลงหรือสูงขึ้น แสดงว่าผิดปกติ
วิธีตรวจการกักเก็บลมดูด(สูญญากาศ)ในระบบ
-ติดเครื่องยนต์ให้เดินเบา ประมาณ2 นาที แล้วดับเครื่องยนต์ จากนั้นเหยียบแป้นเบรคลงจนสุดแล้วปล่อย คอย 5 วินาที ทำซ้ำแบบเดิมอีก 3 ครั้ง และให้สังเกตว่าในทุกๆครั้งที่เหยียบ แป้นเบรคจะต้องสูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ถือว่าปกติ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทุกครั้งที่มีการเหยียบเบรค ลมดูด (สูญญากาศ )ภายในหม้อลมจะลดลงไปเรื่อยจนหมดในที่สุด แต่หาก การเหยียบทุกครั้ง แป้นเบรคเท่ากันแสดงว่ามีการรั่วซึมของระบบลมดูด (สูญญากาศ )
วิธีตรวจสอบการทำงานของแผ่นไดอะเฟรม
-ติดเครื่องยนต์ แล้วเหยียบแป้นเบรคค้างไว้ จากนั้นดับเครื่องยนต์ โดยที่ยังเหยียบแป้นเบรคค้างเอาไว้ ให้มากกว่า 30 วินาที ถ้าแป้นเบรคไม่มีการดันสูงขึ้น แสดงว่าการทำงานของ แผ่นไดอะเฟรม ยังปกติ แต่ถ้าแป้นเบรคดันเท้าสูงขึ้นมา แสดงว่าแผ่นไดอะเฟรมอาจรั่วขาด หรือหม้อลมชำรุด
แนวทางการแก้ไขเมื่อหม้อลมเบรคชำรุดเสียหาย
-เปลี่ยนหม้อลมเบรคใหม่ สบายใจแต่ไม่สบายกระเป๋าเนื่องจากหม้อลมเบรคใหม่แกะกล่องมีราคาที่สูงเอาเรื่องอยู่ที่เดียว
-เปลี่ยนหม้อลมเบรค มือสอง ราคาไม่แรง แต่ต้องอาศัยช่างผู้เชี่ยวชาญในการเลือกซื้อและต้องรีบทดลองใช้เนื่องจาก ประกันการเปลี่ยนลูกใหม่แค่ 7 วัน
-ซ่อม เปลี่ยนแผ่นไดอะเฟรม ในหม้อลมบางรุ่น(ย้ำเฉพาะบางรุ่นเท่านั้น) สามารถเปิดเปลี่ยน แผ่นไดอะเฟรม ได้แต่อย่างไรก็ตามจะต้องเลือกใช้ แผ่นไดอะเฟรม ที่ได้มาตรฐาน
ขอบคุณข้อมูลจาก
บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด www.mmsboschcarservice.com