ในปัจจุบันรถยนต์ที่ผลิตออกมาจำหน่าย ส่วนใหญ่มักจะมี “พวงมาลัยเพาเวอร์” เป็นอุปกรณ์พื้นฐาน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้รถ แต่อย่างไรก็ตามยังมีผู้ใช้รถอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจวิธีการใช้ “รู้ก่อนเหยียบ” จึงขอนำทุกท่านมารู้จักกับ
“พวงมาลัยเพาเวอร์” “พวงมาลัยเพาเวอร์” (Power steering system) คือระบบที่เข้ามาช่วยทดกำลังการหมุนพวงมาลัย ไปในทิศทางต่างๆ ให้เบาลง โดยลดการใช้กำลังลง เพื่อประโยชน์ในการหักเลี้ยวในพื้นที่แคบ ๆและความสะดวกสบายในการขับขี่ ทั้งนี้ “พวงมาลัยเพาเวอร์” ในปัจจุบันยังแบ่งออกเป็น 2 แบบ
1. ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฮดรอลิก (Hydraulic Power Steering) ก็ตามชื่อเลยครับ ระบบนี้จะใช้ ปั๊มไฮดรอลิกสร้างกำลังส่งไปกระปุกพวงมาลัย หรือ แร็กพวงมาลัย เพื่อช่วยผ่อนแรงผู้ขับยามหักเลี้ยว โดยใช้แรงจากเครื่องยนต์หมุนผ่านสายพานมายังที่ปั๊มไฮดรอลิก
ข้อดี พวงมาลัยมีความแม่นยำสูง สร้างความมั่นใจในยามเข้าโค้ง
ข้อเสีย เนื่องด้วยระบบใช้น้ำมันในการถ่ายทอดกำลังดังนั้นเมื่อซีล-ท่อทางชำรุดย่อมเกิดการรั่วซึม
ข้อควรระวัง -อย่าหมุนพวงมาลัยจนสุด ค้างไว้นานๆ เนื่องจากจะทำให้น้ำมันเพาเวอร์มีความร้อนและแรงดันสูง จนอาจทำให้ระบบของพวงมาลัยเกิดความเสียหายได้
2. ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) ระบบนี้จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวสร้างกำลังช่วนผ่อนแรง กล่าวคือเมื่อผู้ขับขี่หักพวงมาลัยจะมีเซ็นเซอร์ ตรวจจับก่อนส่งให้กล่องควบคุมสั่งการให้มอเตอร์ทำงาน
ข้อดี ของระบบพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า คือเมื่อใช้ความเร็วต่ำ พวงมาลัยจะเบามาก แต่เมื่อใช้ความเร็วสูงกล่องควบคุมจะสั่งการให้พวงมาลัยหนักขึ้นเพื่อความปลอดภัยตามความเหมาะสมในช่วงความเร็วนั้น ๆ -ตัดปัญหาการรั่วซึมในระบบเพราะใช้มอเตอร์
ข้อเสีย มีระยะฟรีและความแม่นยำน้อยกว่า ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฮดรอลิก
เทคนิคควรรู้
จุดสังเกตุต้นตอ”พวงมาลัยหนัก”
1. ระดับน้ำมันต่ำเกินไป ควรเติมให้อยู่ในระดับปกติและหมั่นตรวจสอบเสมอ
2. น้ำมันขาดจากการรั่วซึม ส่งผลให้น้ำมันไม่พอในระบบทำให้พวงมาลัยหนัก ให้ตรวจสอบหาจุดที่รั่วซึมแล้วแก้ไข -ใช้น้ำมันผิดประเภท บ่อยครั้งที่พบปัญหานี้ ให้ทำการถ่ายทิ้งทั้งระบบแล้วเติมน้ำมันใหม่
3. ปั๊มไฮดรอลิก เสียหายส่วนใหญ่อาการนี้มักจะมาพร้อมกับเสียงหอน-เสียงดัง แก้ไขได้โดยการรื้อตรวจสอบซ่อมแซมภายใน แต่ถ้าเกินเยียวยาสามารถหาซื้อปั๊มมือสองมาเปลี่ยนได้ ส่วนท่านที่มีทุนทรัพย์จะเปลี่ยนปั๊มใหม่ก็ได้
4. มอเตอร์ชำรุด-เสียหาย (เฉพาะในรถที่ใช้พวงมาลัยไฟฟ้า) ให้สังเกตุไฟเตือนรูปพวงมาลัยบนหน้าปัด ให้รีบน้ำรถเข้าตรวจสอบโดยช่างผู้ชำนาญ
5. อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนในระบบบังคับเลี้ยว อาทิลูกหมาก ชำรุดเสียหาย
6. ลมอ่อน รถไม่ได้ศูนย์ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้พวงมาลัยหนักขึ้นได้เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก: บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด